พัฒนาการของเด็กวัยแรกเกิด-1 ปี

เด็กวัยแรกเกิด-1 ปี จะเรียนรู้จากการมองเห็น การได้ยินและการสัมผัส สนใจวัตถุที่ยื่นเข้ามาใกล้ วัตถุที่เคลื่อนไหว วัตถุสีสดใส มีการเคลื่อนไหวร่างกายในท่าต่างๆ เรียนรู้ ในการทรงตัว ท่านั่ง ท่ายืน พัฒนาการ
เด็กแบ่งย่อยได้ ดังนี้

พัฒนาการอายุแรกเกิด-3 เดือน

เริ่มชันคอได้ และเมื่ออยู่ในท่านอนคว่ำ เด็กจะยกศีรษะและหน้าอก เริ่มมองวัตถุสีสันสดใส มือจะอยู่ในท่ากำ ตอบสนองหรือเคลื่อนไหว ร่างกายเมื่อได้ยินเสียง เปล่งเสียงในลำคอ ส่งเสียง อ้อแอ้เมื่อมีคนคุยด้วย ยิ้มหรือส่งเสียงตอบเมื่อมีผู้พูดคุยและแตะต้องตัว

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ
- อุ้มให้หน้าลูกอยู่ในระดับเดียวกับหน้าแม่ ยิ้มแย้ม มองสบตาพูดกับลูกบ่อยๆ ขณะให้นมลูก พูดคุยโต้ตอบบ่อยๆ หรืออุ้มเห่กล่อม
- จัดให้ลูกนอนหงาย ออกกำลังแขนขาขึ้นลง งอ เหยียดและให้ลูกเคลื่อนไหวด้วยตนเอง ใช้นิ้วมือสัมผัส ฝ่ามือลูก ไม่ควรใส่ถุงมือให้ลูกตลอดเวลา ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว จนอายุ 6 เดือน
- เอียงหน้าไปมาช้าๆ ให้ลูกมองตามและสัมผัสลูกอย่างอ่อนโยนขณะตื่น จัดให้ลูกอยู่ในท่าคว่ำ พูดคุยส่งเสียงชักชวน เขย่าของเล่นที่มีเสียงเหนือศีรษะ เพื่อให้ลูกสนใจเงยหน้ามอง
- ทักทาย เรียกชื่อลูกเมื่อพบกัน พุดคุย สัมผัส เล่น หัวเราะ พูดคุยโต้ตอบ และหยุดฟังเพื่อรอจังหวะให้ลูกส่งเสียง


พัฒนาการอายุ 3-6 เดือน

เริ่มพลิกตะแคงตัวคว่ำได้ เอื้อมมือหยิบของเล่นเริ่มคืบไปข้างหน้าจะมองวัตถุจากวัตถุชิ้นหนึ่งไปยังวัตถุอีกชิ้นหนึ่ง เริ่มกางนิ้วออกหยิบวัตถุสิ่งของ ปล่อยคลายวัตถุออก และเปลี่ยนถ่ายวัตถุจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่งได้ หันตามเสียงเรียก เริ่มเปล่งเสียงสระ เล่นเสียงริมฝีปาก เล่นเสียงพ่นน้ำลาย มีการเลียนแบบการออกเสียงพยัญชนะ เช่น อู อา อี และสระง่ายๆ ยังไม่เป็นคำที่มีความหมายชัดเจนเช่น ปะ จะ ยิ้มเอง ยื่นแขนให้อุ้ม พยายามคว้าจับของเล่น
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ
- พูดคุยโต้ตอบ จับมือลูกสองข้างเข้าหากลางลำตัว
- เขย่ากรุ๊งกริ๊งหรือของเล่นสีสดใสให้ลูกสนใจมอง ค่อยๆ เคลื่อนของเล่นจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง ให้ ลูกมองตาม จากนั้นแตะที่หลังมือลูกกระตุ้นให้ลูกจับ
- จัดที่ปลอดภัยให้ลูกนอนคว่ำ นำของเล่นที่มีเสียง สีสดใส เขย่าเหนือศีรษะลูก ให้ลูกสนใจเงย หน้าขึ้นมอง
- จัดที่ปลอดภัยและกว้างพอให้ลูกหัดพลิกคว่ำพลิกหงาย และคืบได้อย่างอิสระ พ่อแม่อาจใช้ เสียงเรียกหรือของเล่นสีสดใสเพื่อกระตุ้นความสนใจให้ลูกพลิกตัวหรือคืบ
- ยิ้มแย้มขณะพูดคุยโต้ตอบกับลูก เรียกชื่อลูกในทิศทางต่างๆ ฝึกให้ลูกตอบสนองต่อเสียง พูดถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่กับลูกเช่น อาบน้ำ หาของเล่นที่มีเสียง สีสดใสทำให้ลูกสนใจและไขว่คว้าเล่น

พัฒนาการอายุ 6-9 เดือน


นั่งตามลำพังได้เป็นพักๆ เมื่อจับยืนจะกระโดดยกตัวด้วยความพอใจ นั่งได้เอง คลานได้เอง เริ่มเกาะยืน เกาะเดินไป เริ่มใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วอื่นๆหยิบวัตถุขึ้นจากพื้น เริ่มใช้นิ้วมือจิ้มชอนไชตามซอกรูต่างๆ สนใจคนพูด และ รับรู้อารมณ์คนอื่นชัดเจนขึ้น โดยมีการเปลี่ยนสีหน้า ตอบสนองต่อเสียงที่อ่อนโยน หรือเสียงเกรี้ยวกราด เริ่มทำตามคำสั่งง่ายๆ เมื่อใช้ท่าทางประกอบออกเสียงซ้ำๆ ส่งเสียงเรียกร้องความสนใจเลียนแบบการกระทำ กลัวคนแปลกหน้า เล่นของเล่นได้ตามลำพัง ดื่มน้ำจากถ้วยแก้วโดยต้องช่วยเหลือเล็กน้อย เคี้ยวและกลืนอาหารที่บดหยาบได้ ใช้นิ้วมือหยิบอาหาร
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ
- อุ้มลูกในท่านั่ง ฝึกให้นั่งได้มั่นคงขึ้นโดยให้ลูกเอี้ยวตัวคว้าของในหลายๆ ทิศทาง
-  อุ้มลูกน้อยลงปล่อยให้นั่งเล่นของเล่นที่มือหยิบจับได้ถนัดโดยพ่อ แม่ดูแลอยู่ใกล้ๆ
- อุ้มลูกในท่านั่ง ถือของเล่นหรือผ้าที่มีสีสดใสให้อยู่ในระดับสายตาลูก เพื่อให้ลูกสนใจ ปล่อยของเล่นให้ตกลง เพื่อกระตุ้นให้ลูกมองตามของตก
- อุ้มลูกไว้ให้ลูกอุ่นใจขณะพบปะผู้คน และให้เวลาลูกทำความคุ้นเคย บอกหรือทำท่าจะอุ้มให้ลูกรู้ทุกครั้ง พูดถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ เช่นหม่ำๆ ขณะพูดคุยกับลูกให้เรียกชื่อลูกทุกครั้ง
- อ่านหนังสือกับลูกชี้ภาพประกอบ เล่นจะเอ๋ ร้องเพลงทำท่าต่างๆ และปรบมือเล่นกับลูกบ่อยๆ
- ให้ลูกใช้มือหยิบอาหารชิ้นเล็กๆ ที่อ่อนนุ่มเข้าปากเอง เช่น ข้าวสุกฟักทองต้ม หลีกเลี่ยงถั่วหรือของที่สำลักได้ง่าย หาอาหารชิ้นเล็กๆ ให้ลูกหัดกินเอง

พัฒนาการอายุ 9-12 เดือน


เริ่มเกาะเดินไปข้างๆ ตามข้างฝา เดินไปข้างหน้าโดยช่วยจูงมือเด็กทั้ง 2 ข้าง และเริ่มเดินได้เอง อายุ 9-12 เดือน จีบนิ้วหยิบจับสิ่งของได้ ใส่วัตถุลงในถ้วยได้ หันตามเสียงเรียกชื่อ ตอบสนองต่อคำสั่งที่หนักแน่นโดยหยุดกระทำ รู้จักสมาชิกในบ้านเมื่อเอ่ยชื่อ เลียนแบบการกระทำคู่กับเสียง เลียนแบบการกระทำโดยใช้ส่วนของใบหน้า เช่น กระพริบตา จู๋ปาก แลบลิ้น ยิ้มหวาน ร่วมเล่นจ๊ะเอ๋ ถือช้อนและพยายามเอาอาหารเข้าปากและเคี้ยว กลืนได้


สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ
- จัดพื้นที่ให้ลูกคลาน และเกาะยืนอย่างปลอดภัย
- กระตุ้นให้ลูกยืนจากท่านั่งโดยวางของที่ลูกสนใจไว้บนเก้าอี้ กระตุ้นให้ลูกเหนี่ยวเก้าอี้ลุกขึ้นหยิบของ
- สอนให้ลูกแสดงท่าทาง เช่นชี้เมื่ออยากได้สิ่งของ
- พูดคุยโต้ตอบกับลูกด้วยน้ำเสียงและท่าทางที่นุ่มนวล

ที่มา:คู่มือเลี้ยงลูก สำหรับคุณแม่มือใหม่

About Ladapa Pat.

ขอบคุณทุกคนที่แวะเข้าเยี่ยมบล๊อกของส้ม หากมีข้อติชมอะไร แนะนำได้เลยนะคะ ยินดีรับฟังค่ะ
    Blogger Comment
    Facebook Comment

1 ความคิดเห็น :

  1. ได้ความรู้ดี
    ฝากเว็บด้วยค่ะ..... 1 สิ่งที่ทำให้ลดน้ำหนักไม่สำเร็จ คลิกชม CLICK HERE

    ตอบลบ

ค้นหา