โรคหัดกุหลาบ (ROSEOLA INFANTUM) หรือ โรคส่าไข้


โรคหัดกุหลาบ (ROSEOLA INFANTUM) หรือ โรคส่าไข้

"คุณแม่สังเกตว่าน้องบอยอายุ 15 เดือนเริ่มทานอาหารได้น้อยลงตั้งแต่เที่ยง งอแงผิดปกติ ถ่ายเหลวเล็กน้อย ตกเย็นมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน นอนกระสับกระส่าย วันต่อมาพาพบหมอตรวจพบว่าคอแดงเล็กน้อย ตรวจปัสสาวะไม่พบความผิดปกติ หมอสงสัยว่าติดเชื้อไวรัส จึงให้แต่ยาลดไข้และให้สังเกตอาการต่อ อีก 2 วันต่อมาไข้ลดลงเป็นปกติ แต่มีผื่นแดงขึ้นตามตัวเต็มไปหมด หมอตรวจแล้ววินิจฉัยว่าเป็นโรคหัดกุหลาบ คุณแม่ไม่เคยได้ยินชื่อโรคนี้มาก่อนเลย เป็นโรคใหม่หรือคะ แล้วผื่นหายแล้วจะเป็นแผลเป็นไหมคะ"

โรคหัดกุหลาบเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อว่า Human Herpesvirus 6 (HHV-6) ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรคติดต่อทางใด แต่มีการตรวจพบเชื้อไวรัสในน้ำลายของคนปกติ จึงคิดว่าคนเหล่านั้นอาจเป็นพาหะของโรคโดยที่ไม่แสดงอาการ แต่แพร่เชื้อให้เด็กได้ เด็กที่เป็นกลุ่มที่พบโรคได้บ่อยคือช่วงอายุ 6-24 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่ระดับภูมิคุ้มกันจากแม่เริ่มลดลง และพบว่ามากกว่า 90%ของเด็กที่อายุมากกว่า 2 ปีมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้แล้ว แสดงว่าเด็กบางคนได้รับเชื้อโดยไม่แสดงอาการชัดเจน พบโรคนี้ได้ตลอดทั้งปี ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 5-15วันหลังจากได้รับเชื้อ


อาการของโรคคือ มีไข้สูงเฉียบพลัน 39.4-41.2C (103-106F) โดยมากมักมีไข้นาน 3-4 วัน ช่วงที่มีไข้สูงเด็กอาจมีอาการชักจากภาวะไข้สูง บางรายอาจมีกระหม่อมศีรษะโป่งตึงกว่าปกติ ทำให้หมอต้องวินิจฉัยแยกโรคจากเยื่อหุ้มสมองหรือโรคไข้สมองอักเสบ แต่โดยทั่วไปมักพบว่าเด็กไม่มีอาการนอนซึม สามารถลุกขึ้นมาเล่นได้ทั้งๆที่มีไข้สูง และหากมีการเจาะน้ำไขสันหลังตรวจ จะพบว่าผลเป็นปกติ หรืออาจมีเซลเม็ดเลือดขาวเล็กน้อย อาการอื่นที่อาจพบเช่นน้ำมูกเล็กน้อย เจ็บคอ ทานได้น้อย ถ่ายเหลว หนังตาบวม ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ตรวจร่างกายอาจพบ คอแดงและเยื่อแก้วหูแดงเล็กน้อย วันที่ไข้ลงจะเริ่มมีผื่นแดงลักษณะเรียบหรือนูนเล็กน้อย ขนาดประมาณ 1-5 มม.ขึ้นที่ลำตัวแล้วจึงลามไปที่คอ และ อาจมีลามไปที่หน้าและขาได้เล็กน้อย ในวันต่อมาผื่นจะดูมากขึ้น ผื่นมักไม่คัน เด็กมักเริ่มทานอาหารได้มากขึ้นในวันที่ 3 ของผื่นและผื่นจะจางหายไปภายในเวลา 3-4 วัน มักไม่มีผิวหนังลอกหรือรอยคล้ำตามมา ช่วงที่มีผื่นขึ้นคนสมัยก่อนอาจเรียกว่าส่าไข้

การวินิจฉัย หมอวินิจฉัยโรคจากอาการและอาการแสดงเป็นหลัก เนื่องจากการวินิจฉัยที่แน่นอนทำโดยการตรวจพบเชื้อไวรัสในเลือดหรือน้ำลาย หรือการตรวจระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นจากเลือดยังไม่มีที่ใช้โดยทั่วไป เป็นเพียงการวิจัยเท่านั้น หากมีการตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดพบว่าจำนวนเม็ดเลือดขาวอยู่ในเกณฑ์ปกติเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป

ภาวะแทรกซ้อน พบได้น้อยมากๆมักเป็นเฉพาะผู้มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้แก่ อาการปอดอักเสบ ตับอักเสบ สมองอักเสบ หรือความผิดปกติของระบบเลือดเช่น จำนวนเม็ดเลือดและจำนวนเกล็ดเลือดต่ำลง ควรพาพบแพทย์ หากลูกมีการชักจากไข้สูง ซึมลง ทานอาหารหรือนมได้น้อย มีอาการของภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น

การรักษา

เนื่องจากเป็นโรคที่หายได้เอง เพียงแต่ให้การรักษาตามอาการเช่น ยาลดไข้ ยากันชัก (ในรายที่มีความเสี่ยงภาวะชักจากไข้สูง) การดูแลรักษาประคับประคองภาวะท้องเสีย ไม่ให้ขาดสารน้ำและพลังงาน ไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัส ยกเว้นรายที่มีอาการรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อน

การป้องกัน

หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำลายของผู้เป็นโรคทั้งทางตรงและทางอ้อม (โดยจับสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสติดอยู่ แล้วเอามือเข้าปาก)

ข้อมูลโดย แพทย์หญิง สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

About Ladapa Pat.

ขอบคุณทุกคนที่แวะเข้าเยี่ยมบล๊อกของส้ม หากมีข้อติชมอะไร แนะนำได้เลยนะคะ ยินดีรับฟังค่ะ
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา