เรื่องจริงทีควรรู้ นมแม่-นมผง


1. ทำไมจึงไม่ควรให้ทารกได้รับนมที่ไม่ใช่นมแม่ ซึ่งได้แก่ นมผง นมกระป๋อง หรือนมในภาชนะบรรจุต่าง ๆ ตั้งแต่แรกเกิด
               เหตุผลที่ไม่ควรให้ทารกได้รับนมผงตั้งแต่แรกเกิดเพราะ                
1. ทำให้ทารกไม่ได้รับหัวน้ำนมจากแม่ซึ่งเปรียบเหมือนวัคซีนป้องกันโรค ทำให้เด็กเจ็บป่วยได้ง่าย        
2. ทำให้มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้โปรตีนนมวัว เนื่องจากลำไส้ของทารกแรกเกิดยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ โปรตีนจากนมผงสามารถเข้าสู่ร่างกายทารกได้ง่าย โดยผ่านช่องระหว่างเซลล์บุผิวลำไส้        
3. ทำให้น้ำนมแม่มาช้าและไม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 

 2. นมผงมีข้อด้อยกว่านมแม่อย่างไร                
นมผงมีข้อด้อยกว่านมแม่ ดังนี้        
1. นมผงมีสารอาหารน้อยกว่านมแม่ และย่อยยากกว่านมแม่        
2. นมผงไม่มีภูมิต้านทาน และไม่มีสารช่วยกำจัดเชื้อโรค        
3. นมผงไม่มีสารช่วยการเจริญเติบโตของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายให้สมบูรณ์เต็มที่                




3. การให้นมผงร่วมกับนมแม่ในระยะ 6 เดือนแรกจะมีผลเสียอย่างไร                
ผลเสียจากนมผงคือ        
1 มีผลทำให้ภาวะกรด ด่าง ในลำไส้ใหญ่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อชนิดดีซึ่งจะช่วยป้องกัน อันตรายจากเชื้อก่อโรคในลำไส้ใหญ่ ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคท้องเสียในทารกที่กินนมผง        
2. มีผลทำให้เกิดภาวะภูมิแพ้ได้ เนื่องจากเป็นการนำโปรตีนแปลกปลอมให้ลูก ซึ่งยังมีระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง               

 4. ทำไมแนะนำให้ทารกได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวล้วน ๆ ในระยะ 6 เดือนแรก                
นมแม่เป็นอาหารเพียงอย่างเดียวและดีที่สุดสำหรับวัยนี้ เพราะ        
1. ในระยะ 6 เดือนแรก การได้รับอาหารอื่นอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ และภูมิแพ้ได้ง่าย เนื่องจากโครงสร้างของอวัยวะร่างกายทารกยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ โดยเฉพาะทางเดินอาหารมีน้ำย่อยยังไม่ครบ ทำให้มีปัญหาในการย่อยและการดูดซึมอาหาร        
2. ในระยะ 6 เดือนแรกเป็นช่วงที่สมองมีการเจริญเติบโตสูงสุด สารอาหารจากน้ำนมแม่ช่วยในการพัฒนาการเจริญเติบโตของสมองอย่างเต็มที่ในวัย นี้        
3. การได้รับภูมิต้านทานจากนมแม่ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ        
4. ทำให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่าง ๆ จากนมแม่ เช่น วิตามิน ฮอร์โมน ปริมาณสารอาหารและพลังงานจากนมแม่เพียงพอกับความต้องการของทารกในวัยนี้                

5. ถ้าแม่ขาดอาหาร น้ำนมแม่จะยังมีคุณภาพหรือไม่                
น้ำนมแม่ยังมีคุณภาพเสมอแม้ว่าแม่ขาดอาหาร โดยธรรมชาติร่างกายของแม่จะคงคุณค่าของน้ำนมไว้เพื่อลูก ยกเว้นแม่อยู่ในภาวะขาดอาหารรุนแรง               

 6. ถ้าแม่ขาดไอโอดีน นมแม่จะยังมีคุณภาพหรือไม่                
แม้ว่าปริมาณไอโอดีนในนมแม่ขึ้นอยู่กับปริมาณไอโอดีนที่แม่ได้รับ แต่ก็ไม่เป็นเหตุผลที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมผงแทนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากแม่ขาดไอโอดีนควรแนะนำแม่ให้ได้รับไอโอดีนจากอาหารให้เพียงพอ เช่น ใช้เกลือเสริมไอโอดีนปรุงอาหาร ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ ซึ่งสามารถทำได้และดีกว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมผง               

 7. ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ต้องเสริมธาตุเหล็กหรือไม่                ในทารกที่คลอดครบกำหนด การให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวล้วน ๆ 6 เดือน ทารกจะได้รับธาตุเหล็กในน้ำนมแม่อย่างเต็มที่ ธาตุเหล็กนั้นจะถูกดูดซึมได้เต็มที่ จากการศึกษาพบว่า ถ้าแม่ไม่ขาดธาตุเหล็ก การให้นมแม่อย่างเดียว จะทำให้ทารกได้รับธาตุเหล็กเพียงพอ แต่ถ้ามีการนำอาหารอื่นมาให้ทารกด้วย อาหารอื่นจะรบกวนการดูดซึมธาตุเหล็กจากน้ำนมแม่ เช่น เคยดูดซึมได้ร้อยละ 80 ก็จะเหลือเพียงร้อยละ 20 ทำให้ทารกมีโอกาสขาดธาตุเหล็กในระยะ 6 เดือนแรกได้                ในทารกคลอดก่อนกำหนด จำเป็นต้องมีการเสริมธาตุเหล็กในระยะอายุ 2 - 3 เดือนเนื่องจากทารกคลอดออกมาก่อนที่แม่จะส่งผ่านธาตุเหล็กมาให้ได้ทัน ยิ่งคลอดก่อนกำหนดมากเท่าไร ต้องระวังปัญหาขาดธาตุเหล็กมากเท่านั้น                ในการดูแลแบบองค์รวม จึงต้องดูแลแม่ให้ได้รับอาหาร วิตามิน เกลือแร่ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก ไอโอดีน และโฟเลต อย่างเพียงพอ ทั้งระยะตั้งครรภ์ และระยะให้นมลูก จะทำให้ทารกได้รับธาตุต่าง ๆ รวมทั้งธาตุเหล็กจากนมแม่ได้เพียงพอ                

8. การเติมสาร DHA ในนมผง ทำให้ทารกฉลาดได้จริงหรือ
ไม่จริง ยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถยืนยันว่าการเติมสารใด ๆ ในนมผงแล้วทำให้ทารกฉลาดได้ และยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า การเติมสาร DHA ในนมผงทำให้ทารกฉลาด แต่มีหลักฐานชัดเจนว่าทารกที่ได้รับนมแม่ฉลาดกว่าทารกที่เลี้ยงด้วยนมผงอย่างมีนัยสำคัญ
  
  
9. นมผงที่มีสารสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันการติดเชื้อในทารกได้จริงหรือ                

ไม่จริง งานวิจัยเกี่ยวกับการเติมสารสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในนมผงยังไม่สามารถ พิสูจน์ได้ชัดเจนว่าทำให้ทารกติดเชื้อลดลงจริง แต่มีหลักฐานชัดเจนว่าทารกที่ได้รับนมแม่มีการติดเชื้อน้อยกว่าทารกที่ เลี้ยงด้วยนมผงอย่างมีนัยสำคัญ                

10. นมผงมีสารอาหารมากกว่านมแม่จริงหรือ                
ไม่จริง เพราะนมผงมีสารอาหารแค่ 60 ชนิด ส่วนนมแม่มีมากกว่า 200 ชนิด
      
11. นมผงมีโปรตีนครบกว่านมแม่จริงหรือ                

ไม่จริง เพราะเป็นโปรตีนคนละสายพันธุ์ซึ่งไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ แม้ว่าโปรตีนในนมผงนั้นจะได้ปรับปริมาณให้ใกล้เคียงนมแม่แล้วก็ตาม    
            
12. กินนมแม่ช่วยให้ครอบครัวประหยัดได้เท่าไร                
ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการซื้อนมผงปีละประมาณ 48,000 บาท ต่อเด็ก 1 คน หรือประมาณเดือนละ 4,000 บาท                

13. การที่แม่ได้รับตัวอย่างนมผงหลังคลอดมีผลเสียอย่างไร                
มีโอกาสใช้นมผงง่ายขึ้น ส่งผลให้ลูกดูดนมแม่น้อยลง ทำให้การสร้างน้ำนมแม่น้อยลง และแห้งไปในที่สุด ทำให้แม่ต้องหันไปใช้นมผงชนิดนั้น                

14. การที่แม่ได้รับตัวอย่างนมผงจากโรงพยาบาล คลีนิค สถานพยาบาล หรือบุคลากรอื่น ๆ มีผลเสียอย่างไร               
 1. แม่เกิดไม่มั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และอาจใช้นมผงในการเลี้ยงลูกแทนนมแม่        
  2. เกิดความเข้าใจผิดคิดว่านมผงยี่ห้อที่ได้รับแจกจะใช้เลี้ยงลูกได้ดี เพราะได้รับแจกจากผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ                

15. การโฆษณา ประชาสัมพันธุ์นมผงผ่านสื่อต่าง ๆ มีอิทธิพลกับแม่อย่างไร                
ทำให้แม่หลงเชื่อ และหันไปใช้นมผงมากขึ้น เพราะสื่อโฆษณามักจะแสดงภาพเด็กที่แข็งแรง น่ารัก และใช้ชื่อภาษาอังกฤษบอกส่วนประกอบของนม เช่น DHA, AA สิ่งเหล่านี้ทำให้แม่เข้าใจว่านมผงมีคุณค่าตามโฆษณาดังกล่าว                

16. ทำไมจึงต้องมีหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารทารกและเด็กเล็ก (Code)                เนื่องจากการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารทารกและเด็กเล็กในรูปแบบต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปทั่วโลก และไม่มีมาตรการในการควบคุม ประเทศสมาชิกทั่วโลกจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องมีมาตรการควบคุมการตลาดที่ผิดจริยธรรม จึงมีมติเป็นเอกฉันท์รับรองหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดในการประชุมสมัชชาสาธารณ สุขโลกปี พ.ศ. 2524 และให้แต่ละประเทศไปดำเนินการจัดทำเป็นกฎหมาย หรือกฎระเบียบที่เข้มแข็ง                

17. ทำไมต้องผลักดันหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก (Code) ให้เป็นกฎหมาย                
เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องปรามกลยุทธ์การตลาดที่ขาดจริยธรรม ที่บั่นทอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุ้มครองแม่จากการได้รับอิทธิพลการโฆษณา ที่ทำให้แม่เข้าใจผิดว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมผงไม่แตกต่างจากการเลี้ยงลูกด้วย นมแม่ และเป็นการปกป้องสิทธิที่เด็กควรได้รับนมแม่ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ (Convention on the Rights of the Child: CRC)                

18. หากหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก (Code) เป็นกฎหมาย (พ.ร.บ. การตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก) แล้ว จะช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไร                
เมื่อเป็นกฎหมายแล้วทำให้การโฆษณาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ จะสามารถเอาผิดและทำการลงโทษผู้ละเมิดได้ ซึ่งจะทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นได้                

19. ในระหว่างที่ พ.ร.บ.การตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กยังไม่มีผลบังคับใช้ จะมีวิธีการดำเนินการเพื่อป้องปรามผู้ละเมิดหลักเกณฑ์อย่างไร                
ใช้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน ซึ่งมีปัญหาไม่ครอบคลุมกับการกำกับดูแลการตลาดในรูปแบบใหม่่ ๆ และข้อกำหนดของหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก (Code)                

20. บุคลากรสาธารณสุขมีบทบาทหน้าที่ในการปกป้องตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก (Code) อย่างไร               
 1. ดูแลไม่ให้มีการรับบริจาคหรือแจกจ่ายนมผสมแก่แม่หรือครอบครัวที่มีทารกและเด็กเล็ก        
2. เฝ้าระวังการกระทำใด ๆ ที่ละเมิด Code และส่งรายงานการละเมิดพร้อมหลักฐานมายังกรมอนามัย   

             ถึงแม้ในปัจจุบัน "แม่รุ่นใหม่" จำนวนมากจะมีความรู้ความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาก ขึ้น แต่เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมในด้านต่าง ๆ รวมถึงข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตของแม่ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคมากมายที่มีผล กระทบต่อความคิดและพฤติกรรมในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การชักจูงโน้มน้าวของบุคคลแวดล้อมที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการให้นมเด็ก การให้คำแนะนำที่ไม่เพียงพอเหมาะสมของบุคลากรทางการแพทย์ และการโฆษณาจูงใจของผลิตภัณฑ์นมผสม และอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เหล่านี้ล้วนส่งผลให้แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ                 การผลักดันร่าง พ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ในอนาคต จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยได้มากขึ้นนั่นเอง                
สำหรับผู้ดำเนินการเผยแพร่เอกสารชิ้นนี้ อันได้แก่        
       - คณะทำงานวิชาการ เครือข่ายพัฒนากฎหมายการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารทารกและเด็กเล็ก
       - กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
       - องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
       - ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
       - แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       - กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข        - องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย        - ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย        - แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย       


    
ที่มา: thaibreastfeeding.com

About Ladapa Pat.

ขอบคุณทุกคนที่แวะเข้าเยี่ยมบล๊อกของส้ม หากมีข้อติชมอะไร แนะนำได้เลยนะคะ ยินดีรับฟังค่ะ
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา