#14 ข้อควรระวังในการเลี้ยงทารก
อุบัติเหตุเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในเด็ก จากข้อมูลของ “คณะกรรมการป้องกันอุบัติเหตุแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2542 มีเด็กไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 3,000-4,000 คน โดยสาเหตุอันดับ 1 มาจากการจมน้ำปีละประมาณ 1,400 คน และอันดับ 2 คืออุบัติเหตุจราจร ปีละ 900-1,200 คน
ต่อไปนี้ คือ วิธีป้องกันอันตรายและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในเด็ก
1. ให้ลูกนอนหงาย เพื่อป้องกันปัญหาเสียชีวิตจากการนอนคว่ำ (sudden infant death syndrome)
2. ช่องข้างเตียงสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ไม่กว้างกว่า 6 ซม. และไม่กว้างกว่า 9 ซม.สำหรับเด็กอายุมากกว่า 6 เดือน เพื่อป้องกันปัญหาลำตัวเด็กลอดช่องลงไปได้ แต่ติดหัวทำให้เสียชีวิตได้
3. จัดช่องว่างระหว่างเตียงและกำแพงไม่กว้างกว่า 6 ซม. เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเด็กลอดลงไปตรงช่อง แล้วติดหัวอีกเช่นกัน
4. ไม่ควรมี ที่กันกระแทกข้างเตียง ตุ๊กตา ผ้าห่ม ที่นอน/หมอนนุ่มนิ่ม เพราะจะอุดจมูกของลูกได้
5. ห้ามเขย่าตัวลูก เวลาที่ลูกร้องไห้มากๆ เพราะจะทำให้เส้นเลือดในสมองฉีกขาด จอประสาทตาหลุดลอกได้
6. ให้ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในรถทุกครั้ง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางรถยนต์ และอย่าเผลอลืมเด็กไว้ในรถ เพราะอาจถูกขังในรถจนขาดอากาศ หรือ เสียชีวิตเพราะความร้อนขึ้นสูง
7. เลือกของเล่นต้องระวัง ส่วนประกอบต้องแน่นหนา ไม่หลุดง่าย เพราะอาจจะหลุดเข้าปากเด็ก เข้าไปอุดตันทางเดินหายใจ ทำให้เด็กเสียชีวิตได้
8. ไม่ใช้รถหัดเดิน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากรถหัดเดิน เช่น ตกบันได ชนของร้อน ชนกระจก รถพลิกคว่ำ
9. เก็บของอันตรายให้พ้นมือเด็ก เช่น ของมีคม ของร้อน สายไฟพันคอ สารพิษ ยา ของชิ้นเล็กๆที่อาจหลุดลงหลอดลม
10. ไม่ปล่อยเด็กไว้ใกล้แหล่งน้ำ เพราะเพียงแค่หน้าจมน้ำตื้นๆ เช่น หัวคว่ำลงไปในถังน้ำ เพราะสูญเสียการทรงตัว ก็อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้
11. ไม่ปล่อยเด็กไว้กับสัตว์เลี้ยงตามลำพัง
12. จัดบ้านให้ปลอดภัย เช่น อุดรูปลั๊กไฟ มีที่กั้นบันได้ ติดยางกันกระแทกที่มุมโต๊ะ ระวังชายผ้าปูโต๊ะ สายไประโยงระยาง เพราะลูกวัยหัดเดินอาจคว้าเพื่อการทรงตัว ทำให้ล้มครืนลงมาได้ได้
13. ระวังอันตรายนอกบ้าน เช่น ไม่เล่นใกล้ถนน และ อุบัติเหตุในโรงเรียน เช่น จากเครื่องเล่นขนาดใหญ่ทับเด็ก
14. เด็กที่มีนิสัยซุกซน เด็กที่มีอารมณ์หวั่นไหวง่าย เด็กที่สายตาประสาทหูไม่สมบูรณ์ ตลอดจนเด็กพิการ ควรได้รับความสนใจอย่างใกล้ชิด ในโอกาสใดก็ตามที่บุคคลในครอบครัวมีเรื่องวุ่นวาย เช่น มีสมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วย หรือมีงานฉลองในบ้าน หรือพี่เลี้ยงเด็กลาออก ผู้ปกครองควรดูแลเด็กๆอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เพราะเป็นเวลาที่เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายและบ่อยกว่าภาวะปกติ
ข้อมูลจาก แพทย์หญิง สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
0 ความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น