สิ่งที่ต้องรู้เมื่อลูกมีอาการเกรี้ยวกราด รุนแรง Tantrums

สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับ Tantrums  By พญ.สาริณี


คำนี้แปลว่า การมีอารมณ์เกรี้ยวกราด การโมโหโทโส การโกรธเคืองอย่างรุนแรง
นั่นจึงมีความหมายว่า ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่มีอาการอย่างนี้ได้
พวกเราทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกช่วงเวลา ก็มี tantrum ได้ เพียงแต่มีสิ่งหนึ่ง ทำให้ผู้ใหญ่แสดงออกแตกต่างจากเด็กๆ เราเรียกสิ่งนั้นว่า “วุฒิภาวะ”
และจะเห็นได้ว่า การขาดวุฒิภาวะของผู้ใหญ่ ในเรื่องควบคุมอารมณ์ ก็เป็นสิ่งที่พบเห็นได้เรื่อยๆ เช่น โมโหแล้วขว้างของ โมโหแล้วชกต่อย อาละวาด โมโหแล้วตะโกนแหกปาก ด่าทอคนอื่นเสียๆ หายๆ
เมื่อรู้ดังนี้แล้ว เวลาพวกเราเจอลูกกำลัง tantrum ขออย่าได้ไปโกรธ ไปหงุดหงิด ไม่พอใจใส่ลูก เพิ่มเชื้อไฟลงไปอีกเลย ผู้ใหญ่เยอะแยะยังควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ค่อยได้ นับประสาอะไรกับเด็กเล็กๆ ที่อายุน้อยกว่าพวกเราตั้งยี่สิบสามสิบปี
เด็กๆ เค้า tantrum กันยังไง
- ร้องไห้แหกปาก ร้องกรี๊ด หวีดร้อง ตะโกน
- ทำหลังแอ่นงอ ตัวแข็งเกร็ง ลงไปนอนดิ้นพราดๆ ชักดิ้นชักงอ ร้องกลั้นหน้าเขียว
- เตะ ตี กัด ข่วน ดึงผม ชก เอาหัวโขก ผู้อื่น
- กัดตัวเอง ข่วนตัวเอง ดึงผมตัวเอง เอาหัวตัวเองโขกพื้น โขกกำแพง
- ทำข้าวของให้เสียหาย โดยตั้งใจ
แค่อ่านที่หมอเขียนก็เริ่มเครียดแล้วใช่ไหมคะ จงช่วยลูกด้วยวิธีที่ถูกต้อง ด้วยการมีความรู้ที่ถูกต้องกันก่อนค่ะ
1. Tantrums เป็นเรื่องที่เจอได้ปกติ ในเด็กช่วง 1-4 ขวบ
2. เราสามารถทำนายได้ว่าเด็กอาจ tantrum ในสถานการณ์เหล่านี้ ใกล้นอน ใกล้มื้ออาหาร ตื่นนอนใหม่ๆ ก่อนอาบน้ำ ก่อนปิดทีวี พ่อแม่คุยโทรศัพท์ มีคนมาที่บ้าน มีงานสังสรรค์ในครอบครัว พี่น้องเล่นกัน หรือตอนที่เล่นกับเพื่อนๆ
และแน่นอนที่สุด ตอนถูกขัดใจ
3. สิ่งนี้ถึงแม้จะเป็นเรื่องปกติ แต่สร้างความลำบากใจให้ผู้ใหญ่เป็นอันมากเพราะ พวกเรารู้สึกเหมือนถูกท้าทาย ความรู้สึกอย่างนี้ไม่มีใครชอบหรอก หลายครั้งที่พวกเรารู้สึกอับอาย ขายหน้า เมื่อเกิดเหตุการณ์ในที่มีคนอื่นอยู่ด้วย และที่สำคัญ พวกเราส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า “จะหยุดมันยังไง”
4. Tantrums จะไม่ปกติ ไม่ธรรมดาอีกต่อไปถ้า เป็นบ่อยขึ้น เป็นนานขึ้น และเป็นรุนแรงขึ้น รวมถึงเป็นในเด็กที่อายุมากว่า 4-5 ขวบขึ้นไป
Tantrums เป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งของเด็ก
1. ช่วงขวบครึ่งถึงสองขวบ เด็กต้องการทดสอบผู้ใหญ่  เขาอยากรู้ว่าเขาทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน และอยากควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้ แต่ที่แย่คือ “ลูกพูดไม่ได้” ภาษายังมาไม่พอดีกันกับความต้องการทุกอย่างนี้ เมื่ออะไรๆ ก็ไม่เป็นใจให้เด็ก พวกเขาจึงแสดงออกเป็นอาการแบบ tantrums ได้เรื่อยๆ
ช่วงนี้จึงดูขลุกขลัก วุ่นวายมากกว่าช่วงอื่นๆ ที่เรารู้จักกันว่า ช่วง terrible two
ขอให้อดทน และอดใจรอ ผู้ใหญ่ต้องพยายามผ่อนคลายตัวเองให้มากขึ้น เพราะถ้าลูกแรงมา เราแรงกลับ เลยไม่มีใครเป็นหลักอะไรให้ใครได้เลย เหนื่อยเปล่าๆ ค่ะ
2. เมื่อมาถึงราวๆ 3 ขวบ เด็กควรจะควบคุมตัวเอง และมีภาษาพูดที่ดีขึ้นมากแล้ว ทำให้อาการ tantrum ควรจะน้อยลงไปอย่างมาก
แต่ถ้าเด็กเกิดการเรียนรู้ไปผิดๆ เพราะก่อนหน้านี้ผู้ใหญ่จัดการปัญหา ได้ดีไม่พอ เด็กสามขวบเหล่านี้ก็อาจยังมี tantrum ให้เห็น เพราะเขารู้ว่าทำอย่างนี้ แล้วจะได้สิ่งที่ต้องการ
3. เด็ก 4-5 ขวบ ควรจะมีพัฒนาการทั้งร่างกาย ภาษา ทักษะทางสังคม รวมถึงทักษะแก้ปัญหาต่างๆ ดีเพียงพอที่จะจัดการเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตได้ โดยไม่มีอาการ tantrum อีก
แต่เด็กบางคนอาจยังหลงเหลืออาการ tantrum เมื่อต้องทำงานต่างๆ ที่คุณครูมอบหมาย แล้วเขารู้สึกว่ามันยากสำหรับเขามาก หรือเวลาเผชิญกับสถานการณ์ในชั้นเรียน ที่เขายังไม่เคยเจอ และไม่รู้จะจัดการอย่างไร เป็นต้น
การป้องกัน “ไม่ให้เกิด tantrum” ง่ายกว่าการจัดการเด็ก tantrum อย่างมาก พวกเราสามารถทำอะไรได้บ้าง
1. เมื่อเด็กอยู่กันดีๆ เล่นกันดีๆ ผู้ใหญ่ต้องให้ความสนใจและชื่นชม การลงไปเล่นกับเด็ก คลุกคลีกับเขา มีช่วงเวลาสนุกสนาน มีความสุขกันให้มากที่สุด บ่อยที่สุด เป็นการป้องกันที่ดีเยี่ยม
2. พยายามหาโอกาสให้เด็กรู้ว่า ที่จริงเขาก็มีอำนาจควบคุมอะไรๆ ได้พอสมควร ไม่ใช่ต้องทำตามที่ผู้ใหญ่บอกอย่างเดียว เช่น ให้ลูกเลือกเสื้อผ้าใส่เองถ้าลูกต้องการ เลือกที่จะทำอะไรก่อน อะไรหลัง เลือกเล่นตรงนี้ หรือไปตรงนั้น
3. พวกข้าวของที่ไม่อยากให้เด็กได้หยิบ ได้ถือ เอามาเล่น เช่น ของมีคม ของตกแตกง่าย ก็เก็บให้พ้นมือ พ้นสายตา หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ถ้าไม่อยากให้ลูกใช้ ก็แค่เก็บไม่ให้ลูกเห็น เห็นไหมคะว่ามันง่ายมากๆ
4. เมื่อลูกเริ่มดูหงุดหงิด ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจ จะได้ผลค่อนข้างดีในเด็กวัยอย่างนี้
5. ถ้ามีเหตุการณ์ที่คิดว่าจะกระตุ้นให้เด็กไม่พอใจ ก็เพียงแค่พาเด็กออกมาจากสถานการณ์นั้นๆ
6. ฝึกให้เด็กใช้คำขอดีๆ เมื่อลูกขอได้ ก็ให้ เขาจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้อง tantrum ให้เหนื่อยเลย
7. ตรวจสอบดูไม่ให้เด็กหิวจัด หรือง่วงมาก ช่วงเวลาแบบนี้เกิด tantrum ได้ง่ายมากๆ
8. อย่าปล่อยให้เด็กอยู่แบบเบื่อๆ หากิจกรรมทำ เปลี่ยนอิริยาบถช่วยได้จริงๆ
9. จัดหาสถานที่ให้เด็กได้เล่นอย่าง “อิสระ” เลอะเทอะ เปรอะเปื้อน กระโดดโลดเต้น ได้เต็มที่ โดยไม่ถูกดุ ถูกว่า เมื่อใกล้เวลาเลิกเล่น ผู้ใหญ่ส่งสัญญาณก่อนด้วย เช่น บอกลูกว่าเหลือ 2 นาทีนะ ลูกจะได้เตรียมใจได้ทัน
10. พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ “say NO” เด็กวัยอย่างนี้ อะไรที่อนุญาตไม่ได้จริงๆ ค่อยบอกลูกตรงๆ ด้วยความเข้าใจความรู้สึกของลูก อะไรที่พออนุโลมให้ทำได้ ผู้ใหญ่อาจเหนื่อยเก็บกวาดขึ้นหน่อย ให้ลูกได้ทำไปเถิด อย่าไปทะเลาะกับลูกเลย
11. ทำชีวิตประจำวันให้เป็นกิจวัตร ที่คงเส้นคงวา อย่ามีอะไร “surprise” บ่อยเกินไป เด็กวัยนี้ยังรับมือไม่ค่อยไหว
12. ถ้าจำเป็นต้องพาไปที่แปลกใหม่ ที่ลูกไม่คุ้น ให้บอก เตรียมตัว เตรียมใจกันล่วงหน้าก่อน การเล่นสมมุติจำลองเหตุการณ์ช่วยได้มากๆ
13. ข้อนี้สำคัญมากๆ ผู้ใหญ่ที่อยู่กับเด็ก ควรต้องมีสุขภาพจิตดี อารมณ์มั่นคงพอสมควร ยิ้มแย้มแจ่มใส หัวเราะบ่อยๆ ป้องกันเด็ก tantrum ได้อยู่หมัดจริงๆ
ผู้ใหญ่ต้องทำอะไรบ้าง เวลาเด็กกำลัง tantrum รออ่านในบทความถัดๆ ไปนะคะ

About Ladapa Pat.

ขอบคุณทุกคนที่แวะเข้าเยี่ยมบล๊อกของส้ม หากมีข้อติชมอะไร แนะนำได้เลยนะคะ ยินดีรับฟังค่ะ
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา