รับมือกับเด็กวัย tantrum

ลูกกำลัง Tantrum พ่อแม่ต้องทำยังไง  By  พญ.สาริณี


บทความวันนี้เป็นตอนต่อของเรื่อง “สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับ Tantrums” โพสต์เมื่อ 11 ก.ย. 58 บ้านใดที่มีปัญหาลูก tantrum ท่านต้องอ่านเรื่องนั้นอีกรอบ และขอให้ทำตามคำแนะนำ
ระหว่างที่ในครอบครัวกำลังปรับเปลี่ยนอะไรๆ ให้เข้าที่เข้าทางขึ้น เพื่อป้องกันเด็ก tantrum อาจมีบ้างที่ลูกของท่านเกิดอาการ tantrum บทความวันนี้ คงจะพอช่วยเหลือให้พ่อแม่ทำตามหลักการที่ถูกต้องได้มากยิ่งขึ้น
และหมอขอยืนยันอีกครั้งว่า ป้องกันไม่ให้เกิด “ง่ายกว่า” ที่ต้องทำอะไรตอนลูกกำลัง tantrum อย่างเทียบกันไม่ติดเลย
ถ้าลูก tantrum แบบ 
" ร้องไห้แหกปาก ร้องกรี๊ด หวีดร้อง ตะโกน "
1. ถ้าอยู่ในบ้าน อุ้มลูกไปในที่ที่พอจะเก็บเสียงได้ ไม่รบกวนคนอื่นมากเกินไป แล้วปล่อยร้อง บอกลูกสั้นๆ ว่า หยุดร้องแล้วค่อยคุยกัน แม่จะอยู่แถวๆ นี้ (ในที่ที่ลูกเห็นได้)
2. ถ้าอยู่ในที่สาธารณะ ให้อุ้มมาที่รถ ถ้าไม่มีธุระอะไรต่อก็ขับกลับบ้านเลย บอกลูกเหมือนเดิมว่า หยุดร้องแล้วค่อยคุยกัน
ถ้าลูก tantrum แบบ
" ทำหลังแอ่นงอ ตัวแข็งเกร็ง ลงไปนอนดิ้นพราดๆ ชักดิ้นชักงอ ร้องกลั้นหน้าเขียว "
1. ถ้าอยู่บ้าน จัดแจงสถานที่ให้ดิ้นได้สะดวก โดยไม่เกิดอันตราย มีข้าวของเกะกะอยู่ ให้เคลียร์ออกไปให้พ้นทาง เด็กต้องดิ้นบวกร้องไห้แน่นอนอยู่แล้ว บอกลูกสั้นๆ เหมือนเดิมว่า เมื่อลูกสงบแล้วแม่ค่อยคุยด้วย และแม่ต้องอยู่แถวๆ นั้นที่ลูกมองเห็นได้
2. ถ้าอยู่นอกบ้าน tantrum ระดับนี้อุ้มขึ้นรถสถานเดียว ถ้าไม่มีธุระสำคัญที่ต้องไปต่อจริงๆ ก็ขับตรงกลับบ้านเลย ถ้ามีผู้ใหญ่มากกว่าหนึ่งคน คนหนึ่งกอดเด็กไว้ อีกคนขับรถ ถ้ามีผู้ใหญ่คนเดียว อย่าเพิ่งขับรถ กอดเด็กไว้จนกว่าสงบ ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นชั่วโมงเหมือนกัน
3.  ถ้าใช้บริการรถสาธารณะ อุ้มลูกไปกอดไว้ที่สงบๆ ก่อน เมื่อหยุด tantrum แล้ว ค่อยทำอย่างอื่นต่อ
ถ้าลูก tantrum แบบ 
" กัดตัวเอง ข่วนตัวเอง ดึงผมตัวเอง เอาหัวตัวเองโขกพื้น โขกกำแพง "
พ่อแม่ต้องกอด รวบตัว จับแขน รวบขา ให้ลูกหยุดทำตัวเองให้ได้ ทำใจไว้เลยว่างานนี้เหนื่อยแน่นอน ท่านอาจโดนลูกหลงบ้าง แต่ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว
ถ้าลูก tantrum แบบ
" เตะ ตี กัด ข่วน ดึงผม ชก เอาหัวโขกผู้อื่น "
ผู้อื่น ที่กำลังถูกทำให้เจ็บอยู่ ต้องเอาตัวเองออกมาให้ได้ ไม่ปล่อยให้เด็กทำอย่างนั้นได้โดยเด็ดขาด หลังจากนั้นลูกอาจ tantrum แบบอื่นต่อ ให้จัดการตามสถานการณ์ไป
ถ้าลูก tantrum แบบ
" ทำข้าวของให้เสียหายโดยตั้งใจ "
ให้เก็บข้าวของนั้นออกไป ให้พ้นมือลูก ไม่ให้ขว้างปาเป็นครั้งที่สองเด็ดขาด และคาดเดาได้เลย ลูกก็จะ tantrum แบบอื่นต่อไป ท่านก็จัดการต่อไปเหมือนกัน
คำแนะนำทั้งหมดนี้ จะดูเหมือน “ใช้ไม่ได้ผล” ถ้า
1. ผู้ใหญ่จัดการด้วยอารมณ์ “โกรธตอบ”
ขอใช้ประโยคว่า tantrum ไม่สามารถระงับด้วยการ tantrum ตอบ
2. พ่อแม่จำนวนมาก ยังมีค่านิยม “ใช้ความรุนแรง” คิดได้เพียงว่า ต้อง “ตี” ให้หลาบจำ
หมอขออนุญาตให้คำเตือนเล็กๆ น้อยๆ ว่า ลูกไม่ได้หลาบจำ ลูกแค่กลัวเพราะประเมินด้วยสายตาแล้วว่า เขายังเล็กเกินกว่าจะตอบโต้พ่อแม่ที่รุนแรงกับเขา แต่ในใจเขาเฝ้ารอวันทำให้ท่านเจ็บปวด ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่เสมอ
ดังนั้น อย่าเลือกใช้วิธีที่ท่านจะลำบากในภายหลังเลยค่ะ
3. ระหว่างจัดการลูก tantrum อยู่นั้น พ่อแม่เอาแต่พูด พยายามจะให้เหตุผลต่างๆ นานา ท่านอย่าหมดพลังไปกับการพร่ำบอกอยู่เลย เก็บแรงไว้กอดรวบดีกว่า ช่วงเวลานั้นสมองส่วนเหตุผลของลูก กำลังหยุดทำงาน สมองส่วนอารมณ์ก็พยายามจะระเบิดทุกอย่างออกมา เมื่อพูดแล้วไม่ได้ผล ก็หยุดพูดเสียดีกว่าค่ะ
4. ระยะเวลา tantrum ของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน หลายครั้งพ่อแม่ทำตามแล้วดูเหมือนไม่ได้ผล เพียงเพราะท่านให้เวลากับการช่วยเหลือ ตามคำแนะนำเหล่านี้ สั้นเกินไป พูดง่ายๆ ว่า ท่านเลิกล้มไปเสียก่อน กลับไปใช้วิธีที่ท่านถนัด (แต่ไม่ได้ผล) เร็วเกินไป ขอให้อดทนนะคะ อดทนรอ และอดทนรอ
5. สุดท้าย การใช้ไม่ได้ผล เกิดจากพ่อทำอย่าง แม่ทำอย่าง หรือพ่อแม่ทำอย่าง ตายายทำอีกอย่าง ความคงเส้นคงวาในการช่วยเหลือเด็ก tantrum อย่างถูกวิธี เป็นหัวใจของความสำเร็จค่ะ
สรุปสุดท้าย การช่วยเหลือเด็ก tantrum จะประสบความสำเร็จได้โดยง่าย ต้องอาศัยผู้ใหญ่ที่มีความเมตตาสูง สามารถเข้าใจความรู้สึกของเด็กได้ มีความตั้งใจอยากช่วยเหลือให้ลูกผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปให้ได้
อาจดูเหมือนยาก แต่ “ไม่เกินความสามารถ” ของพ่อแม่ที่รัก และปรารถนาดีต่อลูกอย่างแน่นอนค่ะ

About Ladapa Pat.

ขอบคุณทุกคนที่แวะเข้าเยี่ยมบล๊อกของส้ม หากมีข้อติชมอะไร แนะนำได้เลยนะคะ ยินดีรับฟังค่ะ
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา